?? หยดเลือดไขปริศนา ??
ในปัจจุบันได้เกิดปัญหาทางด้านอาชญากรรมขึ้นอย่างมากมาย ซึ่งการที่จะนำตัวผู้กระทำผิดที่แท้จริงมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมนั้นเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ในบางคดีตำรวจต้องไขปริศนาด้วยหยดเลือด ซึ่งหยดเลือดหยดเล็กๆ ที่เรานึกว่าไม่มีความหมาย เมื่อนำมาเป็นหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์แล้วหยดเลือดหยดเล็กๆ ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว
 |
|
แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม อธิบายว่าสามารถใช้หลักทางวิทยาศาสตร์วิเคราะห์ลักษณะของหยดเลือดได้โดยใช้หลักทางฟิสิกส์บวกกับหลักของสรีรวิทยา เพราะหยดเลือดจะมาจากเส้นเลือดแดงหรือไม่ก็เส้นเลือดดำเท่านั้น ลักษณะของหยดเลือดยังสามารถบอกได้ว่าเจ้าของหยดเลือดยังมีชีวิตอยู่หรือตายไปแล้ว ถ้าพิจารณาหยดเลือดจากเส้นเลือดดำและเส้นเลือดแดงจะมีความแตกต่างกัน คือ ความดัน ในหลักทางฟิสิกส์เลือดก็เป็นของเหลว เช่นเดียวกับน้ำ
ซึ่งลักษณะของหยดเลือดหรือรูปร่างของหยดเลือดจะบอกทิศที่หยดเลือดตก และลักษณะของหยดเลือดจะบอกความสูงที่หยดเลือดตกลงมา ถ้าหยดเลือดมีรูปร่างกลมก็แปลว่าเลือดตกลงมาตรงๆ ถ้าหยดเลือดเป็นวงรีก็แปลว่ามาทางเฉียง ต่อไปก็พิจารณาจากขนาดของหยดเลือด เช่น ถ้าขนาดของหยดเลือดมีขนาดเล็กแสดงว่ามาจากบริเวณที่มีความเร็วสูง ถ้าเป็นกรณีทั่วไปก็เป็นเลือดของมาจากเส้นเลือดแดง เพราะถ้ามาจากเส้นเลือดดำหยดเลือดจะมีขนาดใหญ่ |
กรณีถูกยิงจะมีแรงกดสูงมาก เลือดที่กระเซ็นจะมีความเร็วสูง และขนาดของหยดเลือดก็จะมีขนาดเล็ก ถ้ากรณีถูกฟันโดยไม่ได้ถูกเส้นเลือดแดง หยดเลือดก็จะมีขนาดใหญ่ เป็นต้น จากนั้นเจ้าหน้าที่จะนำหลักฐานทุกอย่างมารวมกัน เช่น ใช้ลักษณะของขอบเลือดบอกความสูงก็คือ ถ้าหยดเลือดตกลงมาจากที่สูงก็จะแตกออกไปเป็นดวงเล็กๆ แต่ถ้าหยดเลือดตกลงมาจากที่ไม่สูงมากนัก หยดเลือดจะมีลักษณะกลม เพราะฉะนั้นหยดเลือดจึงสามารถบอกรายละเอียดต่างๆ ได้มากมาย เมื่อเกิดเหตุฆาตกรรม หรือเกิดคดีอาชญากรรมขึ้นเจ้าหน้าที่จะใช้วิธีโยงหยดเลือดจากปลายของรูปหยดน้ำว่าที่มาของหยดเลือดอยู่ที่ใดก็จะเทียบกับตำแหน่งที่มาได้
 |
การหารอยเลือดในที่เกิดเหตุฆาตกรรม บางครั้งทำได้ยากมาก เช่นในที่มืดหรือที่ที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอ จึงทำให้มองไม่เห็นเลือด กองพิสูจน์หลักฐาน แผนกนิติวิทยาศาสตร์ จึงได้ใช้สารลูมินอลในที่เกิดเหตุ โดยสารลูมินอลจะทำปฏิกิริยากับไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ จนทำให้เกิดการเรืองแสงขึ้น ซึ่งตัวช่วยเร่งปฏิกิริยาดังกล่าวก็คือธาตุเหล็กที่อยู่ในฮีโมโกลบินในเลือดนั่นเอง เมื่อเลือดเกิดการเรืองแสง เราก็สามารถหารอยเลือดได้พบในที่สุด |
