แพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม อธิบายว่า เรื่องของการตามรอยนิ้วมือนั้น ตามหลักทางวิทยาศาสตร์ถือว่าลายนิ้วมือเป็นสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละคนเปรียบเสมือนลายเซ็น เพราะแต่ละคนมีลักษณะลายนิ้วมือไม่เหมือนกัน เช่นเดียวกับ DNA ยกตัวอย่างเช่น ถ้านิ้วชี้ของนาย ก. ไปจับที่ไหนก็จะมีลายนิ้วชี้ของนาย ก. ติดอยู่โดยไม่ซ้ำกับนิ้วชี้คนอื่น แต่ปัญหาสำคัญอยู่ที่วัตถุที่มือไปจับ วัตถุที่จับนั้นต้องเป็นวัสดุผิวมันเท่านั้น เพราะวัสดุผิวมันจะทำให้สามารถมองเห็นลายนิ้วมือได้อย่างชัดเจน ถ้าเป็นวัสดูผิวไม่เรียบเป็นรูๆ เช่นผิวหนัง โต๊ะหนังสือ ก็อาจจะไม่สามารถมองเห็นลายนิ้วมือได้ส่วนวิธีตรวจหาลายนิ้วมือมี 2 วิธีคือ
วิธีที่1 คือ ตรวจทางเคมี ซึ่งมี 2 แบบคือ แบบที่ใช้ผงฝุ่น และแบบที่ใช้สเปรย์ แบบที่ใช้ผงฝุ่นนั้นเมื่อปัดผงฝุ่นลงไปบริเวณที่มีลายนิ้วมือก็จะสามารถมองเห็นลายนิ้วมือได้ จากนั้นจะนำวัสดุที่มีลักษณะคล้ายแผ่นกาวมาแปะ และแกะเอารอยผงฝุ่นออกก็จะได้ลายนิ้วมือที่ติดอยู่ ขั้นตอนต่อไปคือนำไปสแกน หรือถ่ายรูปเก็บไว้ส่วนแบบการใช้ สเปรย์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่นั้นจะใช้ในกรณีที่ลายนิ้วมือติดอยู่บนขวดที่มีน้ำมันติด
วิธีที่2 คือ วิธีทางฟิสิกส์ โดยใช้อุปกรณ์ที่มีลำแสงซึ่งมีความยาวคลื่นแตกต่างกัน ความยาวที่แตกต่างกันของคลื่นก็จะทำให้มองเห็นลายนิ้วมือได้ง่าย เมื่อเราส่องเห็นลายนิ้วมือแล้วก็จะใช้กล้องพิเศษถ่ายภาพ เมื่อได้ลายนิ้วมือบนที่เกิดเหตุแล้วต้องนำไปสแกนลงคอมพิวเตอร์ จากนั้นก็ต้องนำลายนิ้วมือของผู้ต้องสงสัยนำมาเปรียบเทียบ และนำมาประมวลในโปรแกรม ซึ่งจะต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของผู้ตรวจ ลายนิ้วมือจึงเปรียบเทียบเหมือนลายแทงที่นำทางไปพบผู้กระทำความผิดได้ |