ควรหลีกเลี่ยงการติดตั้งดวงโคมใต้ชานพักบันได
Sheet No. : TR-EE-09 
  February 10
 
 

 

โดยปกติบริเวณบันไดไม่ว่าจะเป็นบันไดภายในอาคารหรือบันไดหนีไฟนอกอาคาร จะมีการติดตั้งดวงโคมเพื่อให้ความสว่าง โดยทั่วไปมักจะติดตั้งบริเวณใต้ชานพักบันได ซึ่งหากต้องการเปลี่ยนหลอดไฟจะทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากต้องตั้งบันไดชั่วคราวเพื่อปีนขึ้นไปเปลี่ยน บางครั้งอาจเกิดอันตรายพลัดตกลงมาได้ โดยเฉพาะบริเวณบันไดที่อยู่นอกอาคาร ทางที่ดีควรสั่งการให้ผู้รับเหมาก่อสร้างติดตั้งดวงโคมไว้ที่ผนังข้างบันไดจะดีกว่า โดยกำหนดให้ติดตั้งในระดับความสูงประมาณ 2,100 - 2,200 มม. จากพื้นบันไดถึงดวงโคม ซึ่งจะเกิดความสะดวกในการเปลี่ยนหลอดไฟมากขึ้น

 
                       แผงควบคุมไฟฟ้าย่อย (Load Panel), LP โดย คุณประพันธ์ เคณาภูมิ
Sheet No. : TR-EE-08 
   March 09
 
 


เป็นแผงสวิทช์ที่ใช้ควบคุมส่วนของวงจรย่อยในบริเวณที่ต้องการควบคุม หรือห้องที่ต้องการควบคุม Load Panel จะมีเซอร์กิตเบรกเกอร์ย่อย (Miniature Circuit Breaker) หลายๆ ตัววางเรียงกันอยู่ (ซึ่งมีทั้งแบบ 1 เฟส และ 3 เฟส)

Load Panel สามารถแบ่งเป็น 2 แบบ คือ:-

  • Load Panel ขนาดเล็ก เรียกว่า Consumer Unit มีจำนวนวงจรย่อย ตั้งแต่ 2 วงจรขึ้นไปแล้วแต่ผลิตภัณฑ์ ติดตั้งบริเวณควบคุมหรือห้องเล็กๆ

    Consumer Unit


  • Load Panel ขนาดใหญ่ เรียกว่า Load Center มีจำนวนวงจรย่อยตั้งแต่ 12 วงจรขึ้นไป ติดตั้งในบริเวณควบคุมขนาดใหญ่หรือมีโหลดวงจรย่อยรวมมากๆ ตู้ Load Center สามารถแบ่งตามประเภทอุปกรณ์ติดตั้งเป็น 2 ประเภท ได้แก่:-

    1. แบบ Main Breaker เป็นตู้โหลดเซ็นเตอร์ที่มีเซอร์กิตเบรกเกอร์หลักอยู่ภายในตัวเองและป้องกันเซอร์กิตเบรกเกอร์ย่อยทั้งหมดในแผง ใช้ติดตั้งในบริเวณที่อยู่ไกลจากตู้ MDB, DB หรืออยู่นอกห้อง MDB

      Main Breaker Type

    2. แบบ Main Lug เป็นตู้โหลดเซ็นเตอร์ที่ไม่มีเซอร์กิตเบรกเกอร์หลักอยู่ภายในตัวเอง ใช้ติดตั้งในบริเวณใกล้กับตู้ MDB , DB และสามารถเข้าถึงตู้ MDB, DB ได้สะดวก เมื่อเทียบราคากันแล้ว แบบ Main Lug จะมีราคาถูกกว่าแบบ Main Breaker

      Main Lugs Type

สำหรับอาคารสำนักงานขนาดเล็ก 2 ชั้นนั้น การเลือกใช้แผงควบคุมวงจรย่อยให้คำนึงถึงขนาดโหลดและวงจรย่อยรวมในอาคาร หากรวมโหลดแล้วไม่เกิน 100A ให้เลือกใช้เป็น Consumer Unit แบบ 1 เฟส (ขนาดวงจรย่อยให้เลือกตามความเหมาะสม) หากรวมโหลดแล้วมีขนาดเกิน 100A ให้เลือกใช้เป็น Consumer Unit แบบ 3 เฟสหรือ Load Center แบบ Main Breaker ทั้งนี้ การเลือกติดตั้งแผงสวิทช์ควบคุมวงจรย่อยให้ตรวจสอบการประเภทของมิเตอร์ไฟฟ้า (ที่ติดตั้งโดยการไฟฟ้า) ให้สอดคล้องกันด้วย (แบบ 1 เฟสหรือ 3 เฟส)

 
                       Street Lighting บริเวณ Covered Walkway
Sheet No. : TR-EE-07 
   August 08 
 



การติดตั้ง Street Lighting บริเวณ Covered Walkway

จากรูปจะเห็นได้ว่า Street Lighting ติดตั้งทะลุแผ่นหลังคาของ Covered Walkway ซึ่งค่อนข้างแปลก แต่ที่เกิดเหตุดังกล่าว เนื่องจากว่าในครั้งแรกผู้รับเหมาไฟฟ้าได้ติดตั้ง Street Lighting ไปเรียบร้อยแล้วตามระยะห่างที่กำหนดไว้ในแบบ แต่มาภายหลังเจ้าของโครงการได้สั่งการให้ผู้รับเหมางานก่อสร้างติดตั้ง Covered Walkway ตามแนวที่กำหนดในแบบ แต่ผู้เขียนแบบมิได้ไปสำรวจก่อน ดังนั้น แนวของ Covered Walkway จึงทับกันกับตำแหน่ง Street Lighting เมื่อผู้รับเหมาก่อสร้างมาดำเนินการและพบปัญหาดังกล่าวก็ไม่ได้แจ้งผู้ควบคุมงานเพื่อขอแนวทางแก้ไข ทำการติดตั้ง Covered Walkway ทับตำแหน่งดวงโคมไปเลย จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว

ดังนั้น ผู้ควบคุมงานระบบต้องคอยสังเกตมิให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น เพราะมิฉะนั้นแล้วไม่ว่าใครจะเดินผ่าน ก็ต้องสันนิษฐานก่อนว่าดวงโคมมาติดตั้งภายหลัง กว่าพวกเราจะชี้แจงสาเหตุที่เกิดขึ้น ก็อาจถูกเหน็บแนมโดยไม่จำเป็น

 

 
                       การแขวนดวงโคมในบริเวณที่มีลมพัดผ่าน
Sheet No. : TR-EE-06 
   August 08 
 


ตัวอย่างการแขวนโคมในบริเวณที่มีลมพัดผ่าน

การแขวนดวงโคมในบริเวณที่มีลมพัดผ่าน เช่น ลาดจอดรถในร่มจะต้องพิจารณาวิธีการยึดแขวนดวงโคมให้แน่นหนา ไม่ว่าจะเป็นดวงโคมแบบ Fluorescent หรือ Hi-Bay มิฉะนั้นเมื่อมีลมพัดผ่านในบริเวณดังกล่าว อาจทำให้ดวงโคมแกว่งจนเป็นเหตุให้หลอดไฟร่วงหล่นลงมาจนเกิดอันตรายต่อทรัพย์สินและบุคคลได้ วิธีการยึดดวงโคมให้แน่นหนาโดยเฉพาะดวงโคมแบบ Flourescent อาจใช้วิธีแขวนราง Wireway พร้อมเดินสายไฟฟ้าใน Wireway และยึดดวงโคมใต้ Wireway ก็ได้

 

 
                       ข้อควรระวังในการติดตั้ง Wireway และ Cable Tray
Sheet No. : TR-EE-05 
   September 07 
 


ฝาครอบ Wireway อยู่ชิดติดกับแนวท่อลมมากเกินไป

รูปที่ 1


ฝาครอบราง Wireway ไม่ควรใช้ขนาดยาว 2,400 มม. เพราะถอดยาก ควรใช้ความยาวไม่เกิน 1,200 มม.

รูปที่ 2

จากรูปภาพ สิ่งที่ควรระวังในการติดตั้ง Wireway และ Cable Tray คือ

  1. ไม่ควรติดตั้ง Wireway หรือ Cable Tray ใต้แนวท่อลมที่ชิดกันจนเกินไป (ดูรูปที่1) เพราะหากต้องทำการ Service ในภายหลังจะเกิดความยุ่งยากในการถอดฝาครอบออก
  2. ฝาครอบ Wireway หรือ Cable Tray โดยเฉพาะที่ติดตั้งในฝ้า หรือใน Shaft ควรกำหนดให้ยาวไม่เกิน 1,200 มม. เพราะหากใช้ความยาว 2,400 มม. ดังรูปที่ (2) เวลาต้องการถอดเพื่อทำการ Service ในภายหลัง จะถอดออกได้ยากมาก โดยเฉพาะ Wireway หรือ Cable tray ที่มีความกว้างค่อนข้างมาก เพราะฝา Wireway จะมีน้ำหนักมาก และเกะกะเวลาเลื่อนออกจากตัว Wireway หรือ Cable Tray
  3. Wireway ที่ติดตั้งอยู่ในบริเวณนอกอาคาร เช่น ในราง Gutter หรือใน Trench หรือบน Pipe Bridge ควรเจาะรูขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้ว เป็นระยะๆ เพื่อระบายน้ำฝนที่อาจเข้าไปในรางได้ ถึงแม้ว่าจะมีฝาครอบปิดก็ตามเพราะรอยต่อระหว่างฝาครอบอาจไม่ได้ทำการ Seal เพื่อกันน้ำ อีกประการหนึ่งควรจัดให้มี Slope ไปทาง Sump ของ Gutter หรือ Trench เพื่อระบายน้ำได้สะดวกขึ้น ทางที่ดีควรใช้เป็น Cable Tray เพื่อเป็นการตัดปัญหานี้ออกไป แต่ก็ทำให้เกิดความสิ้นเปลืองขึ้นบ้างเพราะราคา Cable Tray จะแพงกว่า Wireway ในขนาดเดียวกัน



    ฝาครอบ Wireway ช่วงที่ต่อลงมาจากฝ้า
    ควรมีความยาวไม่เกิน 300 มม.

    รูปที่ 3


    ฝาครอบ Gutter มีขนาดใหญ่และยาวเกินไป  

    รูปที่ 4

  4. ฝาครอบ Wireway หรือ Cable Tray ที่ต่อลงมาจากฝ้าไปหา Gutter ไฟฟ้าก่อนเข้าตู้ไฟฟ้า ควรตัดให้มีความยาวน้อยที่สุด ( ไม่ควรเกิน 300 มม.) จากรูปที่ (3) จะเห็นได้ว่า หากต้องการถอดฝาครอบจะทำไม่ได้เลย เนื่องจากติดขัดบริเวณตำแหน่งที่ต่อลงมาจากฝ้า ผู้ควบคุมงานควรแจ้งผู้รับเหมาแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้น
  5. จากรูปที่ (4) จะเห็นได้ว่าฝาครอบราง Gutter ไฟฟ้าก่อนลงตู้ไฟฟ้ามีขนาดใหญ่มาก แถมยังมีความยาว 2,400 มม. ซึ่งมีน้ำหนักมาก หากต้องการถอดออกเพื่อทำการ Service ในภายหลัง จะทำได้ค่อนข้างยุ่งยากและอาจเกิดอันตรายกับช่างซ่อมบำรุงได้ ทางที่ดีควรแจ้งให้ผู้รับเหมาทำฝาครอบให้สั้นลง โดยไม่ควรเกินท่อนละ 1,200 มม. และ/หรือ แบ่งเป็นหลายๆ ท่อนโดยมีความยาวเท่าๆ กันตามความกว้างของตู้ไฟฟ้าก็ได้ จะได้ดูเป็นระเบียบเรียบร้อยหลังจากปิดฝาครอบดังกล่าว
 
                       ข้อควรระวังสายไฟฟ้าถูกบาดเสียหาย
Sheet No. : TR-EE-04
   June 07 
 


โดยทั่วไปเรามักจะใช้ราง Gutter เป็นตัวเชื่อมระหว่าง Raceway (Cable Tray, Wireway, Conduit) กับตู้ไฟฟ้า วิศวกรสนาม / ช่างเทคนิคจะต้องกำชับให้ผู้รับเหมาใส่ยางกันบาดที่ขอบ Cable Tray หรือ Wireway ที่ต่อกับ Gutter และที่ Gutter ต่อกับตู้ไฟฟ้าทุกจุดก่อนการดึงสายไฟฟ้า เพื่อป้องกันการบาดสายไฟฟ้า ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายจากไฟฟ้ารั่วได้ หากไม่สามารถหาได้ อาจใช้เปลือกสายไฟฟ้าแทนเป็นการชั่วคราวได้

 
                       ตำแหน่งตู้ไฟฟ้า
Sheet No. : TR-EE-03
   June 07 
 


จากรูปภาพจะเห็นได้ว่าตำแหน่งตู้ไฟฟ้าติดตั้งอยู่ในบริเวณใต้ท่อน้ำต่างๆ ซึ่งมีทั้งท่อระบายน้ำฝน, ท่อน้ำประปา และท่อระบายน้ำเดินผ่าน ในอนาคตอาจมีท่อใดท่อหนึ่งรั่วชำรุดจะเป็นเหตุทำให้น้ำรั่วออกมาทำความเสียหายให้กับระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์ในตู้ไฟฟ้าได้ ดังนั้น ก่อนการกำหนดตำแหน่งตู้ไฟฟ้าใดๆ วิศวกรสนาม / ช่างเทคนิคที่รับผิดชอบในระบบไฟฟ้าควรตรวจสอบกับวิศวกรสนาม / ช่างเทคนิคในระบบท่อน้ำต่างๆ ด้วย เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว

 
                                   ข้อควรรู้เกี่ยวกับ Degree of Protection (IP)
Sheet No. : TR-EE-02 
   March 07 
 


Degree of Protection (IP) คือ ระดับของการป้องกันอุปกรณ์ไฟฟ้าที่อาจเกิดความเสียหายจากฝุ่นละออง, ของแข็ง หรือน้ำ โดยเฉพาะอุปกรณ์ประเภทมอเตอร์, ตู้ Switch board ฯลฯ เป็นต้น โดยจะกำหนดอยู่ในรูปของ IP No. เช่น IP 45 ซึ่งตัวเลขตัวแรก หมายถึง ระดับของการป้องกันความเสียหายจากฝุ่นละออง, ของแข็ง มีค่าตั้งแต่เลข 0 ถึง เลข 6 ส่วนตัวเลขถัดไป หมายถึงระดับของการป้องกันความเสียหายจากน้ำ มีค่าตั้งแต่เลข 0 ถึง เลข 8 ดังนั้น มอเตอร์ IP 45 หมายถึง มอเตอร์ที่มีระดับการป้องกันความเสียหายจากการถูกของแข็งที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง >= 1.0 มม. กระแทก และยังสามารถป้องกันความเสียหายจากการฉีดน้ำจากทุกทิศทางได้

การเลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีระดับของการป้องกัน (Degree of Protection) ต่างๆ ขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมของอุปกรณ์ไฟฟ้านั้นๆ ถูกติดตั้งอยู่ เช่น มอเตอร์ของ Cooling Tower ควรใช้ Motor ที่มีระดับการป้องกันความเสียหายเท่ากับ IP 55 ซึ่งสามารถป้องกันทั้งฝุ่นละออง และการฉีดน้ำจากทุกทิศทางได้ เพราะบริเวณที่ติดตั้งมอเตอร์ดังกล่าวมีความชื้น และฝุ่นละอองมาก เป็นต้น

 
 

  ตารางต่อไปนี้จะแสดงตัวเลขของระดับของการป้องกันความเสียหายจากฝุ่นละออง, ของแข็ง หรือน้ำ ดังนี้

 
   
   
 


Top  | มีข้อสงสัยหรือข้อคิดเห็นสามารถเข้าไป post ที่ web board


 
                                   ข้อควรระวังในการอนุมัติ Load Center
Sheet No. : TR-EE-01 
   February 07 

 
 


ตู้ Load Center ที่ใช้กันโดยทั่วไปจะรับกระแสไฟฟ้าจากตู้ DB (Distribution Board) เพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าแรงต่ำไปที่ Load ต่างๆ เช่น ดวงโคม เต้ารับไฟฟ้า ซึ่ง Load ดังกล่าวส่วนใหญ่ต้องการกระแสไฟฟ้าชนิด 220/1/50 ดังนั้นในตู้ Load Center จะใช้ Miniature Circuit Breaker ชนิด 1 Phase เดินสายไฟฟ้าไปพร้อมกับสายไฟฟ้าที่ต่อจาก Neutral Bus Bar ในแต่ละ Circuit

ปัญหาที่พบคือ ตู้ Load Center ส่วนใหญ่จะประกอบ Neutral Bus Bar ที่สามารถรับกระแสไฟฟ้าเท่ากับ 50% ของ Main Bus Bar เท่านั้น จึงเป็นเหตุทำให้ Neutral Bus Bar มีความร้อนเกิดขึ้นอย่างมากจนบางครั้งทำให้ฉนวนของสายไฟฟ้าที่ต่อจาก Neutral Bus Bar ร้อนจนถึงขั้นละลาย ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต และทรัพย์สินอย่างใหญ่หลวง นอกจากนี้ Neutral Bus Bar ดังกล่าวยังถูกเจาะรูเพื่อร้อยสายไฟฟ้าด้วย (ดูรูปภาพประกอบ) จึงทำให้ความสามารถในการรับกระแสไฟฟ้าลดลงไปอีก

ดังนั้นก่อนทำการพิจารณาอนุมัติ Load Center ในโครงการใดๆ ควรตรวจสอบจำนวน Circuit และประเภทของ Load ชนิด 220/1/50 ที่มีกระแสไฟฟ้า ไหลผ่าน Neutral Bus Bar ในปริมาณที่สูง (เช่น Load ประเภท High Pressure Discharge, Switch Power Supply (สำหรับอุปกรณ์ Computer) ฯลฯ เป็นต้น) หากพบว่ามีจำนวน Circuit ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ผู้พิจารณาควรแจ้งหรือ Comment ให้ผู้ผลิต / ผู้รับเหมาเพิ่มขนาดของ Neutral Bus Bar เป็น 100% - 200% ของ Main Bus Bar เพื่อป้องกันมิให้เกิดความร้อนที่สูงจนเกินไป ซึ่งอาจทำให้ฉนวนสายไฟฟ้าละลายได้ (ขอให้พิจารณาจากรูปภาพประกอบ ซึ่งแสดงแท่ง Neutral Bus Bar ขนาด 50% และ 100% ของ Main Bus Bar ประกอบด้วย) การแจ้งให้ผู้ผลิต / ผู้รับเหมาทราบแต่เนิ่นๆ อาจไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม เมื่อเทียบกับที่ต้องสั่งมาเปลี่ยนภายหลัง ซึ่งยุ่งยากมากทั้งในการเปลี่ยนแท่ง Bus Bar และรื้อสายไฟฟ้า Neutral พร้อมร้อยสายไฟฟ้าอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอาจจะต้องดำเนินการนอกเวลาทำการ เนื่องจากโครงการได้ใช้งานไปแล้ว

Top  | มีข้อสงสัยหรือข้อคิดเห็นสามารถเข้าไป post ที่ web board